สำหรับใครหลายคนเธอคือผู้บุกเบิกการศึกษาเรื่องเพศของสตรี แต่สำหรับบางคนเธอเป็นเพียงสตรีสูงศักดิ์ผู้มีสายสัมพันธ์กับบุคคลทรงอิทธิพลมากมาย
ความจริงก็คือ เจ้าหญิงมารี โบนาปาร์ต ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1882-1962 เป็นเหลนของอดีตจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส และยังมีศักดิ์เป็นพระปิตุจฉา (ป้า) ของเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองแห่งสหราชอาณาจักร
ความสนใจหลักของเจ้าหญิงผู้นี้คือการศึกษาเรื่องการถึงจุดสุดยอดทางเพศของผู้หญิง (female orgasm) และเรื่องจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) ทางจิตวิทยา ซึ่งนำพาให้เธอได้กลายเป็นลูกศิษย์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ จิตแพทย์ชาวออสเตรีย ผู้เป็นบิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ และครั้งหนึ่งเธอได้เคยช่วยชีวิตเขาเอาไว้
แต่เหนือสิ่งอื่นใด มารี โบนาปาร์ต คือ "หญิงผู้มีความคิดอิสระ"
ในหนังสืออัตชีวประวัติของมารี โบนาปาร์ตหลายเล่ม บรรยายถึงเธอในฐานะสตรีผู้มีความโดดเด่นทั้งในแวดวงวิทยาศาสตร์ และในหมู่ราชวงศ์ชนชั้นสูง รวมทั้งในฐานะบุคคลผู้เฝ้าค้นหาคำตอบเรื่องความสุขสมทางเพศของผู้หญิง
เจ้าหญิง
มารี โบนาปาร์ต ถือกำเนิดในกรุงปารีส ในตระกูลที่มั่งคั่งและมีชื่อเสียง
เธอเป็นบุตรสาวของ มารี-เฟลิกซ์ (สกุลเดิม บล็องค์) และเจ้าชายโรลังด์ นโปเลียน โบนาปาร์ต แห่งฝรั่งเศส
ฟรองซัวส์ บล็องค์ ตาของเธอเป็นนักธุรกิจผู้มั่งคั่ง และผู้ก่อตั้งคาสิโนมอนติคาร์โล (Monte Carlo Casino) อันโด่งดังในโมนาโก
ทว่าชีวิตของเธอต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งการเกือบเอาชีวิตไม่รอดตอนคลอดออกมา และการที่แม่ผู้ให้กำเนิดต้องเสียชีวิตลง 1 เดือนหลังจากนั้น
ชีวิตวัยเด็กของเธอเต็มไปด้วยปัญหาและความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดาย
การไม่มีเพื่อนเล่นในวัยเดียวกัน ทำให้มารีใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับพ่อผู้เป็นนักมานุษยวิทยาและนักภูมิศาสตร์ รวมทั้งย่าผู้ที่เธอรู้สึกยำเกรง
มารีเป็นคนช่างสงสัยใคร่รู้ตั้งแต่เด็ก ทั้งในเรื่องวิทยาศาสตร์ วรรณคดี การเขียน รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับร่างกายของเธอ...
วันหนึ่ง พี่เลี้ยงเข้าไปพบมารีกำลังสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง
"มันเป็นบาป! มันเป็นเรื่องชั่วร้าย! คุณจะต้องตายถ้าคุณทำแบบนี้!" พี่เลี้ยงคนดังกล่าวบอกมารี ซึ่งเธอได้เขียนบันทึกเรื่องนี้ไว้ในไดอารี่เมื่อปี 1952
เนลลี ธอมป์สัน เขียนในบทความเรื่อง The Theory of Female Sexuality of Marie Bonaparte: Fantasy and Biology เอาไว้ว่า "โบนาปาร์ต ระบุว่าเธอเลิกสำเร็จความใคร่ด้วยการสัมผัสที่ปุ่มกระสัน หรือ คลิตอริส (clitoris) ตอนอายุ 8-9 ปี เพราะกลัวคำที่พี่เลี้ยงขู่เอาไว้ว่าความตายคือสิ่งที่ต้องแลกกับความสุขสมทางเพศ"
ตั้งแต่เด็ก มารีมีความคิดแบบคนหัวขบถ และไม่ยอมรับแนวคิดที่ว่าผู้หญิงควรเป็นคนหัวอ่อนและยอมจำนน
ในช่วงวัยรุ่น มารีเริ่มเรียนภาษาต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน แต่จู่ ๆ ย่าและพ่อก็สั่งห้ามเธอเข้าสอบวัดความรู้ในวิชาเหล่านี้
"เธอ (ย่า) และโรลังด์ อ้างว่าบรรดาศัตรูของตระกูลโบนาปาร์ต ซึ่งเป็นฝ่ายนิยมการปกครองระบอบสาธารณรัฐอาจเข้าก่อกวนการสอบเพื่อสร้างความอับอายให้แก่วงศ์ตระกูลของพวกเขา" เนลลี ธอมป์สัน อ้างอิงจากไดอารี่ของมารี
เหตุการณ์นี้ทำให้มารีต้องสบถออกมาว่า "ชื่อเสียง ชนชั้น และความร่ำรวยที่เฮงซวยของฉัน...โดยเฉพาะเพศหญิงของฉัน! เพราะถ้าฉันเป็นผู้ชาย พวกเขาคงไม่ห้ามฉันแบบนี้!"
ก่อนอายุจะครบ 20 ปี มารี โบนาปาร์ต ซึ่งอยู่ในวัยที่ความรู้สึกทางเพศกำลังพุ่งพล่าน ได้ลักลอบมีสัมพันธ์สวาทกับชายที่แต่งงานแล้วคนหนึ่ง ซึ่งทำงานเป็นผู้ช่วยของพ่อเธอ
ทว่ามันต้องจบลงด้วยความอื้อฉาว และการแบล็คเมล์ ที่สร้างความอับอายให้แก่เธอ
พ่อของมารีจึงแก้ปัญหาด้วยการแนะนำให้เธอรู้จักกับผู้ชายที่เขาอยากได้มาเป็นลูกเขย นั่นคือ เจ้าชายจอร์จแห่งกรีซและเดนมาร์ก ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1869-1957 และแก่กว่ามารี 13 ปี
มารียอมตกลงและทั้งคู่ก็แต่งงานกันในวันที่ 12 ธ.ค.ปี 1907 ในกรุงเอเธนส์ จากนั้นได้ให้กำเนิดทายาท 2 คน คือ เจ้าหญิงยูเชนี และเจ้าชายปีเตอร์
แม้ทั้งสองจะแต่งงานกันนาน 50 ปี แต่มันก็ไม่ใช่ชีวิตคู่ที่มีความสุขเท่าใดนัก มารีได้รับรู้อย่างรวดเร็วถึงความผูกพันทางอารมณ์ที่แท้จริงที่สามีของเธอมีให้กับเจ้าชายวัลเดอมาร์แห่งเดนมาร์ก ผู้มีศักดิ์เป็นลุงของเขา
นั่นจึงทำให้มารี ซึ่งตอนนั้นตัดสินใจมีชู้รักหลายคน และกลัวว่าตัวเองจะตายด้านทางความรู้สึก ได้ค้นพบหนทางปลอบประโลมจิตใจจากชีวิตที่มีปัญหารุมเร้าผ่านทางการศึกษา
สำรวจเรื่องทางเพศของผู้หญิง
ความกระหายใคร่รู้ที่จะทำความเข้าใจถึงธรรมชาติทางเพศและความสุขสมของผู้หญิงผลักดันให้มารีลงมือศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ในปี 1924 เธอได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง Notes on the anatomical causes of frigidity in women หรือ "ข้อสังเกตสาเหตุทางกายภาพของภาวะกามตายด้านในผู้หญิง" โดยใช้นามแฝงว่า เอ.เจ นาร์ยานี
ศาสตราจารย์คิม วอลเลน ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา และระบบต่อมไร้ท่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรมมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยเอมโมรี ในสหรัฐฯ กล่าวว่า "เธอ (มารี) คับข้องใจที่ตัวเองไม่เคยถึงจุดสุดยอดระหว่างมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่"
"เธอไม่ยอมรับกับความเชื่อที่ว่าผู้หญิงสามารถถึงจุดสุดยอดทางเพศได้จากการกระตุ้นปุ่มคลิตอริสโดยตรงเพียงอย่างเดียว" ศาสตราจารย์วอลเลน กล่าวกับบีบีซี
มารีคิดว่าหากผู้หญิงไม่สามารถบรรลุจุดสุดยอดได้ตอนที่ถูกสอดใส่ นี่เผยให้เห็นถึงปัญหาทางกายภาพ
ดังนั้นเธอจึงสร้างทฤษฎีที่ว่า ยิ่งปุ่มคลิตอริสมีตำแหน่งอยู่ใกล้กับช่องคลอดมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นเท่านั้นที่ผู้หญิงคนนั้นจะถึงจุดสุดยอดขณะมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่
เพื่อยืนยันสมมุติฐานของเธอ มารีได้เก็บข้อมูลการวัดขนาดดังกล่าวของผู้หญิงกว่า 240 คน ในกรุงปารีส เมื่อปี 1920
ดร.เอลิซาเบธ ลอยด์ ผู้ศึกษางานวิจัยของมารี ร่วมกับศาสตราจารย์วอลเลน กล่าวว่า "โบนาปาร์ตมีสมมุติฐานที่น่าสนใจ เธอได้บุกเบิกทฤษฎีที่ว่าผู้หญิงถูกสร้างขึ้นมาไม่เหมือนกัน ซึ่งทำให้พวกเธอมีการตอบสนองที่แตกต่างกันขณะมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่"
แต่ทฤษฎีของเธอ "ได้มุ่งเน้นเรื่องทางกายภาพของผู้หญิง โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น วุฒิภาวะทางด้านจิตใจ หรือการที่ผู้หญิงมีความพึงพอใจในชีวิต เป็นต้น..." ดร.ลอยด์ ระบุ
นี่ทำให้มารีมีความเชื่อว่า หากผู้หญิงเข้ารับการผ่าตัดเพื่อย้ายปุ่มคลิตอริสไปอยู่ใกล้กับช่องคลอดมากขึ้น ก็จะทำให้พวกเธอสามารถบรรลุจุดสุดยอดในการมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ได้
แต่ท้ายที่สุดเธอก็พบว่าความเชื่อดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่คาด
"การผ่าตัดกลายเป็นหายนะ ผู้หญิงบางคนสูญเสียความรู้สึกไปทั้งหมด แต่มารี โบนาปาร์ต เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในการค้นพบของตัวเอง และเข้ารับการผ่าตัดด้วย แต่ก็ต้องพบกับความล้มเหลว" ศาสตราจารย์วอลเลนกล่าว
แต่เธอไม่ย่อท้อ และเข้ารับการผ่าตัดอีกถึง 3 ครั้ง
ดร.ลอยด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และปรัชญาวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลับอินดิแอนา ในสหรัฐฯ ระบุว่า "เมื่อคุณตัดระบบประสาทรอบปุ่มคลิตอริสออกไปมาก ๆ คุณจะสูญเสียความสามารถในการรับความรู้สึกไป..."
มิตรภาพอันแน่นแฟ้นกับซิกมันด์ ฟรอยด์
แต่ถึงอย่างนั้น มารี โบนาปาร์ต ก็ไม่ยอมแพ้ เธอยังคงพยายามค้นหาคำตอบเพื่อแก้ไขความคับข้องใจทางเพศของตัวเอง
ในปี 1925 เธอเดินทางไปกรุงเวียนนาเพื่อขอรับคำปรึกษาจากนักจิตวิเคราะห์ผู้กำลังได้รับการพูดถึงจากวงการแพทย์ในกรุงปารีส นั่นคือ ซิกมันด์ ฟรอยด์
เนลลี ธอมป์สัน เขียนในบทความของเธอว่า "ฟรอยด์ทำให้เธอ (มารี) ได้พบสิ่งที่โหยหา นั่นคือ 'พ่อ' คนใหม่ที่เธอจะได้รักและรับใช้"
มารีกลายเป็นคนไข้ของเขา ก่อนจะพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่มิตรภาพอย่างรวดเร็ว และเมื่อความสนใจด้านจิตวิเคราะห์เพิ่มพูนขึ้นก็ทำให้เธอกลายเป็นลูกศิษย์ของเขาในที่สุด
ศาสตราจารย์เรมี อามูโรซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโลซานน์ ในสวิตเซอร์แลนด์ เล่าให้บีบีซีฟังว่า "เธอ (มารี) เป็นผู้หญิงคนแรกในฝรั่งเศสที่ศึกษาด้านจิตวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ศึกษากับฟรอยด์"
"ฟรอยด์ชอบมีเธอเป็นเพื่อนเพราะเธอไม่ใช่ 'ผู้หญิงอันตราย' หรือ เป็นนักวิชาการ โดยตอนที่พวกเขาได้รู้จักกันนั้น ฟรอยด์มีอายุเกือบ 70 ปีแล้ว ส่วนเธอก็เป็นผู้หญิงที่น่าสนใจ ฉลาด และร่ำรวย ที่คอยโต้แย้งกับเขา" ศาสตราจารย์อามูโรซ์ระบุ
มารี โบนาปาร์ต กลายเป็นบุคคลมีชื่อเสียงในแวดวงจิตวิเคราะห์ของกรุงปารีส และยังรับคนไข้หลายคนในตารางการทำงานประจำวันของเธอด้วย
เธอยังช่วยชีวิตของฟรอยด์เอาไว้ในตอนที่กองทัพนาซีเยอรมนีบุกยึดออสเตรีย โดยใช้ความมั่งคั่งและอิทธิพลของเธอจัดการให้ฟรอยด์และครอบครัวของเขาหลบหนีออกจากกรุงเวียนนาไปยังกรุงลอนดอน ซึ่งเขาอาศัยอยู่จนถึงวาระสุดท้ายในชีวิต
"ในวัย 82 ปี ผมได้ละทิ้งบ้านในเวียนนาจากการรุกรานของเยอรมนี แล้วมาอยู่ในอังกฤษ ซึ่งผมหวังว่าจะได้ใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายโดยอิสระ" ฟรอยด์ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีในปี 1938
หญิงผู้มีความคิดอิสระ
ประสบการณ์ในสายอาชีพที่เพิ่มพูนขึ้น ทำให้มารี โบนาปาร์ต มีความคิดขัดแย้งกับทฤษฎีทางเพศของสตรีที่มีอยู่ดั้งเดิมของตัวเองในที่สุด
"มารี โบนาปาร์ต ละทิ้งแนวคิดดั้งเดิมของเธออย่างสิ้นเชิง" ศาสตราจารย์วอลเลนกล่าว
"เธอตีพิมพ์หนังสือเล่มใหม่ในปี 1950 ที่มีชื่อว่า Female Sexuality ซึ่งเธอระบุว่าปัจจัยทางกายภาพไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ทุกอย่างล้วนมาจากปัจจัยทางด้านจิตใจ ซึ่งตอนนั้นเธอได้ศึกษาด้านจิตวิเคราะห์มาเกือบ 25 ปีแล้ว"
ศาสตราจารย์วอลเลนระบุว่า "แม้จะเปลี่ยนแนวคิด แต่ดิฉันคิดว่างานวิจัยดั้งเดิมของเธอน่าทึ่งมาก" และมองว่ามารี โบนาปาร์ต คือสตรีผู้ปฏิวัติการศึกษาเรื่องเพศของผู้หญิง
สำหรับ ดร.ลอยด์ นั้น มารี โบนาปาร์ต คือ "บุคคลที่น่าทึ่ง เธอเป็นหนึ่งในวีรสตรีของดิฉัน แม้ว่าจะมีชีวิตที่น่าเศร้าอยู่ด้วยก็ตาม"
เมื่อพูดถึงการศึกษาเรื่องเพศของผู้หญิง "เธอเป็นผู้มีความรู้และความเข้าใจล้ำหน้ากว่าผู้คนในยุคนั้น แม้ที่จริงเธอจะไม่พึงพอใจหรือมีความสุขกับร่างกายของตัวเองเลยก็ตาม"
ศาสตราจารย์อามูโรซ์ ซึ่งใช้เวลาหลายปีในการทำรายการผลงานของมารี โบนาปาร์ต ในกรุงปารีส ก็คิดว่า "เธอเป็นสตรีที่น่าทึ่งผู้มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุคคลในแวดวงวรรณกรรม การเมือง และคนในราชวงศ์ เรียกได้ว่าเธอรู้จักคนมีชื่อเสียงแทบทั้งหมดในช่วงครึ่งแรกของของศตวรรษที่ 20"
"เธอเป็นบุคคลที่น่าสนใจสำหรับขบวนการสตรีนิยมเช่นกัน" เขากล่าว พร้อมกับชี้ว่า ในที่สุด มารี โบนาปาร์ต ก็ได้ข้อสรุปว่า "มุมมองเรื่องทางเพศของเธอได้รับอิทธิพลอย่างมากจากผู้ชาย เพราะเธอเข้าใจมาตลอดว่าการบรรลุจุดสุดยอดทางเพศนั้นมีอยู่เพียงทางเดียวเท่านั้น"
"แต่ขณะเดียวกันเธอก็มีความคิดที่เป็นอิสระเปิดกว้างมาก เธอเป็นผู้หญิงที่ซับซ้อนผู้ไม่เกรงกลัวที่จะท้าทายซิกมันด์ ฟรอยด์"
"มีชื่อเสียง" - Google News
August 26, 2020 at 10:55AM
https://ift.tt/3liRevM
มารี โบนาปาร์ต เจ้าหญิงฝรั่งเศสผู้บุกเบิกการศึกษาเรื่องเพศของสตรี - บีบีซีไทย
"มีชื่อเสียง" - Google News
https://ift.tt/36UBHvx
No comments:
Post a Comment