4 มิถุนายน 2563 | โดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ | คอลัมน์ อาหารสมอง
30
ทำความเข้าใจ คำว่า "ทุน" ในมิติต่างๆ ที่มากกว่าความหมายเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เพราะในภาษาธรรมดาที่ไม่ใช่วิชาการ กินความหมายไปถึงสิ่งมีค่าที่จับต้องไม่ได้ อย่างเช่น ทุนทางสังคม ทุนทางการเมือง ทุนมนุษย์ รวมถึงทุนแห่งกามตัณหา
“เขามีฐานะดีจึงมีต้นทุนสูง” “เขาคงไม่กล้าเสี่ยงทำอะไรที่อาจทำลายชื่อเสียงเขาหรอกเพราะเขามีต้นทุนสูง” “มีต้นทุนทางการเมืองสูงขนาดนี้ลงเลือกตั้งกี่ครั้งก็ได้” “คุณอย่ามาเสี่ยงมีเรื่องกับคนมีต้นทุนต่ำอย่างผมเลยเพราะมันไม่คุ้ม” ประโยคเหล่านี้เราได้ยินกันบ่อยๆ ในสังคมไทยแท้จริงแล้วควรใช้คำว่า “ทุน” แทน “ต้นทุน”
ในการผลิตสินค้าและบริการมีปัจจัยการผลิตรวมอยู่ 4 ประเภท กล่าวคือ Land (ที่ดินซึ่งกินความถึงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น อากาศ น้ำ แร่ธาตุ ฯลฯ) Labor (แรงงาน ซึ่งประกอบด้วย แรงงานทางสมองและแรงงานทางร่างกาย) Capital (ทุนซึ่งหมายถึงเงินเพื่อซื้อทรัพยากรหรือสิ่งอื่นๆ ที่จับต้องได้ ซึ่งร่วมใช้ในการผลิต เช่น อาคาร จอบเสียม เครื่องจักร อุปกรณ์ โต๊ะเก้าอี้ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ) และ Entrepreneurship (การประกอบการ คือ กิจกรรมของการนำปัจจัยทั้ง 3 มาร่วมกันผลิตอันเป็นการเพิ่มคุณค่า)
ในเวลาต่อมาคำว่า “ทุน” ในภาษาธรรมดาที่ไม่ใช่วิชาการ กินความหมายไปถึงสิ่งมีค่าที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งร่วมใช้ในการผลิตด้วย เช่น ฐานะในสังคมการยอมรับในสังคม การมีเครือข่าย ชื่อเสียง ฯลฯ ดังคำว่า Social Capital (ทุนทางสังคม) คำนี้มีการใช้กันตั้งแต่ ค.ศ.1890 ก่อนที่จะเป็นที่นิยมในปลายทศวรรษ 1990 โดยมักใช้อธิบายผลงานเป็นเลิศด้านการบริหารอันเกิดจากความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันของสังคม ผู้ทำงานให้องค์กรหรือความสามัคคีของคนในชาติ หรือการร่วมใช้ภาษาเดียวกันของคนทั้งชาติ
“ทุนทางสังคม” สะท้อนคุณค่าอันเกิดจากความสัมพันธ์ของกลุ่มคน เช่น การมีค่านิยมร่วมกัน มีความเข้าใจร่วมกัน มีความไว้วางใจกัน มีความร่วมมือกัน ฯลฯ ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านใดที่เป็นหนึ่งเดียวกัน มีความสามัคคี ก็เรียกว่ามีทุนทางสังคมสูงหรือมีทุนสูง เราไม่เรียกว่ามีต้นทุนสูง
อีกคำหนึ่งได้ยินบ่อยๆ คือคำว่า Political Capital (ทุนทางการเมือง) ซึ่งสื่อความถึงการสะสมทุนและอำนาจของบุคคลหนึ่ง ซึ่งผ่านการสร้างความสัมพันธ์ความไว้วางใจและความปรารถนาดีกับนักการเมืองอื่นๆ กับพรรคอื่นๆ หรือกับผู้ลงคะแนน
“ทุนทางการเมือง” แยกออกได้เป็น “ทุนการเมืองด้านชื่อเสียง” (Reputational Political Capital) และ “ทุนทางการเมืองด้านการเป็นตัวแทน” (Representative Political Capital) โดยอย่างแรกหมายถึง ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจได้ของนักการเมือง ส่วนอย่างหลังได้มาจากการมีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือการยึดนโยบายหนึ่งอย่างไม่สั่นคลอนทุนชนิดนี้ทำให้นักการเมืองผู้นั้นมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายซึ่งทุนนี้มาจากการมีประสบการณ์ การเคยรับตำแหน่งระดับผู้นำและมีวัยวุฒิ
“ทุนทางการเมือง” จึงเป็นผลิตผลของความสัมพันธ์ระหว่างความประทับใจของสาธารณะ (ความเห็น) การเกิดเป็นนโยบาย (ความสำเร็จจากบทบาทในรัฐสภา) และวิจารณญาณทางการเมือง (การตัดสินใจที่ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ) คนที่มีชื่อเสียงดีและได้รับความนิยมในทางการเมืองจึงเป็นคนมี “ทุนทางการเมือง” สูง เราไม่เรียกว่ามี “ต้นทุนทางการเมือง” สูง (เช่นเดียวกับเรียกนักการเมืองที่มีเงินแยะไว้ใช้เลือกตั้งว่ามีทุนสูงไม่ใช่มีต้นทุนสูง)
สำหรับคำว่า “ต้นทุน” (Cost) นั้น หมายถึงทรัพยากรที่ต้องสูญเสียไปในการผลิตสินค้าและบริการ เหตุที่ไม่เน้นว่าเป็นเงินที่เสียไปก็เพราะต้นทุนไม่จำเป็นต้องเป็นเงินเสมอไป ตัวอย่างเช่นการเจ็บเข่าต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน 1 วัน จนต้องเสียสละการไปท่องเที่ยวชมธรรมชาติ ดังนั้น ต้นทุนของการอยู่บ้านรักษาตัวก็คือโอกาสที่เสียไปของการไปชมธรรมชาติ
สิ่งที่ได้รับมาในที่นี้ (สินค้าและบริการ) คือ การรักษาตัวเพื่อให้หายเจ็บเข่า และสิ่งที่ต้องจ่ายไป (ต้นทุน) คือโอกาสในการได้ไปเที่ยวชมธรรมชาติ เราไม่พูดว่าสิ่งที่เสียไปคือ “ทุน” หากต้องพูดว่า “ต้นทุน” โดยสรุปก็คือ “ทุน” คือสิ่งมีค่าที่บุคคลมีอยู่ เช่น “ทุนทางสังคม” หรือ “ทุนทางการเมือง” หรือ “ทุน” ที่ใช้เพื่อการผลิต ส่วน “ต้นทุน” คือสิ่งที่เสียไปเพื่อให้ได้สิ่งหนึ่งมา (เสียเงิน 500 บาท ในการผลิตขันทองเหลือง 1 ใบ ดังนั้นต้นทุนของขันคือ 500 บาท)
ปัจจุบันมีการใช้คำว่า Human Capital (ทุนมนุษย์) จนสงสัยว่าก็ human (หรือlabor) ก็เป็นคนละประเภทของปัจจัยการผลิตอยู่แล้วจะเอามารวมกันได้อย่างไร ก็คงต้องตอบว่าทุกสิ่งมีวิวัฒนาการในการทำให้งง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษา “Human Capital” หมายถึงมนุษย์ที่มีการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบมีทักษะและความรู้มีทัศนคติและค่านิยมที่ดี ตลอดจนมีประสบการณ์การทำงาน
หลายคนสังเกตเห็นว่าใน 20-30 ปีที่ผ่านมานี้ คนหล่อคนสวย มีบุคลิกภาพดี มีเสน่ห์ทางเพศ (Sex Appeal) มีทักษะทางสังคมและมีทักษะในการนำเสนอตนเองสูง มักได้เปรียบเหนือคนอื่นเสมอ Catherine Hakim ในหนังสือชื่อ Honey Money : The Power of Erotic Capital, 2011 เรียกคุณลักษณะโดยรวมเหล่านี้ว่า Erotic Capital (ทุนแห่งกามตัณหา)
“ทุนแห่งกามตัณหา” รวมเอาสิ่งเหล่านี้ไว้ด้วยกัน อันได้แก่ ความสวยความงาม/ เสน่ห์ทางเพศ / ความมีชีวิตชีวา / ความสามารถพิเศษในการเลือกแต่งกายอย่างถูกกาลเทศะ / เสน่ห์และทักษะทางสังคม / การดึงดูดใจในเรื่องเพศ/ โดยเน้นเรื่อง “กามตัณหา” (ความอยากในกามหรือความมีเยื่อใยในกาม)เป็นพิเศษ ไม่ว่าเราจะชอบมันหรือไม่ก็ตามที คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุนชนิดนี้มีค่ายิ่งในสังคมปัจจุบัน
ในภาษาทั่วไป “ทุน” คือสิ่งมีค่าที่อยู่ในตัวคนอุปมาเหมือนมีน้ำอยู่ในถังปริมาณหนึ่ง ณ จุดหนึ่งของเวลา (สามารถเพิ่มหรือลดได้ในเวลาต่อไปข้างหน้า) ส่วน “ต้นทุน”คือสิ่งที่ต้องยอมเสียไปเพื่อให้ได้สิ่งพึงปรารถนามา (ปริมาณวัดต่อชิ้นหรือต่อช่วงเวลา)
เราอยากมี “ทุน” เพิ่มขึ้น เพราะมันเป็นสิ่งที่เป็นบวก แต่เราไม่อยากมี “ต้นทุน” สูงหรือเพิ่มขึ้น เพราะมันเป็นสิ่งที่เป็นลบต่อกระเป๋าของเรา
"มีชื่อเสียง" - Google News
June 04, 2020 at 02:00AM
https://ift.tt/3gX6SLt
ทุนทางการเมือง-ทุนแห่งกามตัณหา - กรุงเทพธุรกิจ
"มีชื่อเสียง" - Google News
https://ift.tt/36UBHvx
No comments:
Post a Comment